NFT คืออะไร จะกลายมาเป็นกระแสร้อนแรงต่อจากบิทคอยน์หรือไม่

10 นาที
อัพเดทครั้งล่าสุด 30 ส.ค. 2566 09:22 น.
coverImg
แหล่งที่มา: DepositPhotos

ค่อนข้างเป็นประเด็นที่ใหม่แต่มาแรงสุด ๆ กับ NFT ที่เป็นช่องทางลงทุนและสร้างรายได้สำหรับผู้ใช้เหรียญคริปโตในแบบที่ไม่ว่าใครก็ต่างพูดถึง บ้างก็ว่าเจ้าสิ่งนี้กำลังกลายเป็นบับเบิลคลายทิวลิปบับเบิลเมื่อปี 1600-1700 บ้างก็ว่าเจ้าสิ่งนี้จะไม่เพียงคงอยู่และดำเนินต่อไป แต่ยังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของหลาย ๆ วงการอีกด้วย 


ซึ่งสำหรับใครที่ยังงงอยู่ว่าเจ้า NFT นี้คืออะไร ทำไมถึงมีคนพูดถึงหนาหูกันขนาดนี้ และ NFT จะกลายเป็นกระแสร้อนแรงต่อจากสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ได้หรือไม่ คราวนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

NFT คืออะไร?

NFT คืออะไร


NFT เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนและมีการเข้ารหัสเหมือนกับเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) แต่ NFT ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทสกุลเงินดิจิทัล เพราะมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างออกไป

NFT หรือ Non-Fungible Token มีความหมายแบบตรงตัวว่า เหรียญโทเค็นที่ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งสาเหตุที่ได้ชื่อแบบนี้นั่นก็เพราะว่าเหรียญ NFT แต่ละเหรียญนั้นมีความเฉพาะตัวและเราจะไม่สามารถนำเหรียญหนึ่งมาเทียบกับอีกเหรียญหนึ่ง คล้ายๆ กับที่เราไม่สามารถนำภาพศิลปะภาพหนึ่งมาเทียบกับอีกภาพหนึ่งได้


คุณสมบัตินี้ทำให้ NFT แตกต่างจากเหรียญคริปโตอื่น ๆ ที่ทุกเหรียญมีความเหมือนกัน มีมูลค่าเท่ากัน และสามารถใช้ชำระราคาได้เหมือน ๆ กันไม่ว่าจะรันด้วยหมายเลขใดก็ตาม และด้วยความเฉพาะตัวนี้เองทำให้ NFT มาพร้อมกับความหาได้ยาก และมีราคา


เราสามารถจำแนกคุณลักษณะของ NFT ออกได้เป็น 4 ข้อ คือ


  • เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)

    เหรียญ NFT จะไม่เป็นรูปวาดบนกระดาษหรือวัสดุทางกายภาพ แต่จะต้องแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลที่สามารถนำมาเข้ารหัสและเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนได้ เช่น ไฟล์ภาพ ไฟล์เอกสาร ไฟล์เสียง ฯลฯ

  • รนบนบล็อกเชน (Blockchain)

    NFT จะถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนหนึ่ง ๆ และไม่สามารถนำไปใช้ในระบบของบล็อกเชนอื่นได้ และจะถูกตรวจสอบและโอนย้ายบนระบบของบล็อกเชนนั้น ๆ เช่น NFT ที่สร้างขึ้นบน Ethereum จะไม่สามารถนำไปใช้บนบล็อกเชน Bitcoin ได้

  • มีความเฉพาะตัวที่ทดแทนไม่ได้ (Fungible)

    เหรียญ NFT แต่ละเหรียญจะมีความเฉพาะตัวและไม่สามารถทดแทนได้ด้วย NFT เหรียญอื่น จนแทบจะเรียกได้ว่า NFT เหรียญหนึ่ง ๆ จะมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก และคนที่ได้ครอบครองเหรียญนั้นก็จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกนั่นเอง

  • ไม่สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ (Non Divisible)

    การแบ่งเหรียญ NFT ออกเป็นหน่วยย่อยนั้นทำไม่ได้ เพราะจะทำให้คุณสมบัติของเหรียญเปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ NFT แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถแบ่งเป็นหน่วยทศนิยมได้หลายตำแหน่งโดยที่ยังมีมูลค่าเท่า ๆ กันได้

NFT ทำงานอย่างไร?

NFT จะอยู่เก็บและแชร์ข้อมูลอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนเช่นเดียวกับสกุลเงินดิจิทัล เพียงแต่สกุลเงินดิจิทัลอาจมีเครือข่ายบล็อกเชนหลากหลายรองรับ เช่น Bitcoin, Ethereum, Cardano ฯลฯ แต่สำหรับ NFT นั้นมักจะรันบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum แม้ว่าจะมีเครือข่ายอื่น ๆ ที่สามารถรองรับได้ก็ตาม


การขุด หรือ สร้าง เหรียญ NFT นั้นทำได้ด้วยการนำงานดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นงานที่จับต้องได้หรือไม่ได้ก็ตามมาแปลงเป็นเหรียญ NFT โดยเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นค่า Gas บนเครือข่าย Ethereum โดยงานที่สามารถนำมาทำเป็น NFT ได้ เช่น ไฟล์งานศิลปะ ไฟล์ GIFs ไฟล์วิดีโอ ของสะสม ภาพแสดงเสมือนตัว หรือ ไอเท็มเฉพาะในเกมและไฟล์เพลง


หรือแม้แต่ทวีตแรกของผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์อย่าง Jack Dorsey ก็สามารถนำมาขายในรูปเหรียญ NFT ได้มูลค่ามากกว่า $2.9 ล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว


โดยทั่วไปแล้ว NFT ก็เป็นคล้าย ๆ กับคอเลคชั่นงานศิลปะที่จับต้องได้อย่างที่เราคุ้นเคย เพียงแค่ว่ามันอยู่ในรูปดิจิทัลเท่านั้น โดยเพิ่มฟังก์ชั่นในการซื้อขายแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลางผ่านระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนเครือข่ายบล็อกเชน (Blockchain) ที่เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบและความน่าเชื่อถือเข้าไป ซึ่งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้งานช่วยให้ NFT มีคุณสมบัติเพิ่มเติมจากงานศิลปะแบบดั้งเดิม นั่นคือ


 ●  มีความเป็นมาตรฐาน (Standardization) 

นั่นคือสินค้าต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยนั้นจะมีแพลตฟอร์มสำหรับจัดการที่แตกต่างกันไป เช่น แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนตั๋วคอนเสิร์ต แพลตฟอร์มสำหรับประมูลงานศิลปะ แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายเพลงดิจิทัล แต่สำหรับ NFT นั้นทุก ๆ เหรียญไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนจะสามารถจัดเก็บ ซื้อขาย และส่งมอบโอนย้ายได้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน


 ●  มีความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) 

ไม่ว่า NFT จะถูกสร้างและวางขายที่ไหน เมื่อได้มาเป็นเจ้าของแล้วก็สามารถเคลื่อนย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ เก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ นำไปวาง หรือขายบน Marketplace ไหนก็ได้ที่รองรับเครือข่ายบล็อกเชนที่สนับสนุน NFT นั้น ๆ อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น Ethereum


 ●  สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ง่าย (Tradeability) 

ตัวเหรียญ NFT ถูกออกแบบมาให้อยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนซึ่งสามารถเขียนสัญญาอัจฉริยะได้ ทำให้การซื้อขายสามารถเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขหลายแบบแล้วแต่ผู้ขายจะตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาขายแบบตายตัว หรือ การประมูล ก็สามารถทำได้


 ●  แก้ไขดัดแปลงไม่ได้แต่สามารถพิสูจน์ต้นตอที่มาได้ง่าย (Immutability and provable scarcity) 

การถูกบันทึกลงบนเครือข่ายบล็อกเชนทำให้เมื่อบันทึกข้อมูลลงไปแล้วไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก นอกจากนี้ก็ยังสามารถตรวจสอบต้นตอที่มาได้ เพราะทุกข้อมูลธุรกรรมการแลกเปลี่ยน โอน ซื้อขาย จะถูกบันทึกอยู่บนเครือข่ายทั้งหมด


 ●  ถูกโปรแกรมได้ (Programmability) 

ด้วยการนำสัญญาอัจฉริยะเข้ามาจัดการธุรกรรม ทำให้นอกจากรูปแบบการซื้อขายที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ขาย ผู้ขายยังสามารถโปรแกรมเงื่อนไขอื่น ๆ ลงบน NFT ได้ด้วย เช่น เกมที่สามารถนำคาแรกเตอร์ที่เป็น NFT มาผสมพันธุ์กันจนได้เป็น คาแรกเตอร หรือ NFT ใหม่ หรืออาจเป็นการเพิ่มเงื่อนไขการใช้งาน NFT เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้ในเชิงพานิชย์ การวางเงื่อนไขส่วนแบ่งรายได้เมื่อมีการนำเหรียญไปขายต่อ เป็นต้น

NFT มีประโยชน์อย่างไร?

จากลักษณะและการทำงานของ NFT ตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ NFT สามารถสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับทั้งผู้ขายหรือศิลปินเจ้าของผลงาน และ ผู้ซื้อหรือนักสะสม ดังนี้


  • ช่วยทำให้ไฟล์ดิจิทัลทั่ว ๆ ไปมีความเฉพาะตัว (Unique)

    สามารถเป็นเจ้าของและเก็บสะสมได้ เช่น ทวีตแรกของผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์อย่าง Jack Dorsey ที่เดิมก็เป็นเพียงแค่ทวีตที่ใครก็สามารถเปิดเข้าไปดูได้ แต่เมื่อนำมาทำเป็น NFT ทำให้เกิดสิทธิในความเป็นเจ้าของ และทำให้สิ่งที่ใครก็เข้าไปดูได้มีความเฉพาะตัว สามารถเก็บสะสมได้ และมีมูลค่าในสายตาของผู้ซื้อ 


  • ช่วยยืนยันสิทธิให้กับผู้สร้างในผลงานที่พิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ยาก

    เช่น ผลงานศิลปะที่แม้จะมีลายเซ็นต์อยู่ แต่ก็สามารถพิสูจน์ได้ยาก หรือต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการพิสูจน์ว่าเป็นของจริงหรือไม่ แต่ NFT ทำให้ขั้นตอนเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายและทำได้ ช่วยให้ศิลปินสามารถนำผลงานมาประมูลหรือขายได้โดยที่แทบไม่ต้องมีความยุ่งยากในการตรวจสอบเลย 


  • สามารถช่วยป้องกันการถูกนำผลงานไปดัดแปลง

    เนื่องจากเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้จะทำให้เมื่อมีการบันทึก NFT ลงในระบบแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้อีก จึงไม่สามารถถูกดัดแปลง ไม่สามารถถูกลบ หรือแทนที่ด้วยสิ่งอื่นได้อีก ช่วยให้ผู้สร้างมั่นใจได้ว่าผลงานจะไม่สูญหาย หรือถูกนำไปใช้งานผิดประเภท


  • สามารถประยุกต์ใช้กับสัญญาอัจฉริยะสร้างความเป็นไปได้ที่หลากหลาย

    NFT สามารถนำมาใช้งานร่วมกับสัญญาอัจฉริยะที่เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่สามารถบรรจุผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเรียบร้อยแล้ว เช่น สัญญาอัจฉริจะของ NFT สามารถสร้างให้เหรียญ NFT สามารถจ่ายผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งเปอร์เซนต์ให้กับเจ้าของเดิมได้เมื่อเหรียญมีการขายต่อในอนาคต เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้งาน NFT

แม้หลาย ๆ คนจะยังสงสัยกับคุณสมบัตของ NFT แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการนำ NFT มาใช้งานแพร่หลายมากขึ้นแล้วในหลากหลายวงการด้วยกัน เช่น 

ภาพวาด Mona Lisa ถูกแปลงเป็นไฟล์ NFT

1. ตั๋วอีเวนต์

สำหรับกรณีนี้การสร้างตั๋วให้เป็น NFT จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนและการตรวจสอบประวัติการซื้อขายทำได้ง่าย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การขโมยตั๋วจะทำไม่ได้ การปลอมตั๋วก็ยิ่งทำไม่ได้มากขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครสามารถแฮ็กหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับตั๋วนั้นบนบล็อกเชนได้ 


นอกจากนี้ด้วยการที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ง่าย และมีสภาพคล่องที่สามารถซื้อขายได้รวดเร็ว ทำให้สามารถซื้อขายตั๋วได้ตามราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายพอใจอย่างแท้จริง 


2. สินค้าแฟชั่น

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่วงการแฟชั่นกำลังเผชิญอยู่นั่นก็คือการปลอมสินค้า โดยเฉพาะสินค้าหรู เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เข็มขัดแบรนด์ดัง ซึ่งในจุดนี้การมีเหรียญ NFT แนบติดไปกับสินค้าด้วยจึงสามารถช่วยพิสูจน์สินค้าของจริงได้โดยที่มีความแม่นยำแบบไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญจึงจะดูออก 


นอกจากนี้ NFT ยังสามารถช่วยระบุที่มาของวัสดุที่นำมาใช้ผลิตสินค้าหรูหราต่าง ๆ แหล่งผลิต รวมถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจชองสินค้าชิ้นนั้น ๆ แนบติดกับตัวสินค้าจริง ๆ ไปได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถบอกเล่าประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า เช่น เรื่องราวการผลิตสินค้าและความยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้ามีข้อบ่งชี้ด้านธรรมาภิบาลที่มักจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อในปัจจุบัน 


3. งานสะสม

สิ่งสำคัญที่ผู้ซื้อจะมองหาในของสะสม นอกจากจะเป็นความสวยงาม ความพอใจและความชื่นชอบแล้ว ของสิ่งนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่หาได้ยาก โดยเฉพาะหากมีเพียงชิ้นเดียวบนโลกก็มักจะสร้างความสนใจให้กับนักสะสมได้เป็นพิเศษ และนั่นคือคุณสมบัติที่ NFT สามารถมอบให้ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพวาดที่แม้ปัจจุบันจะสามารถผลิตได้ไม่จำกัดด้วยไฟล์ jpec หรือ gif, คลิปวีดิโอที่สามารถอัปโหลดได้ไม่รู้จบ แต่ทั้งหมดนี้สามารถเกิดเป็นลายเซ็นดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลกและสามารถครอบครองนำมาสะสมและวางแสดงได้ด้วย NFT 


4. ไอเท็มเกม

ปัจจุบันตลาดเกมเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าสนใจ ซึ่งมูลค่าที่จะเติบโตขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่เกมเท่านั้น แต่สินค้าที่อยู่ในเกมก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตตามไปด้วย ซึ่ง NFT จะเข้ามาทำให้การเป็นเจ้าของไอเท็มหายากในเกมนั้นสามารถถูกยืนยันได้ และแน่นอนเมื่อสามารถยืนยันและเป็นเจ้าของได้ ก็สามารถนำมันไปโอนขายให้กับผู้สนใจคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งตัว NFT ก็จะสามารถบันทึกธุรกรรมตลอดสายของการซื้อขายไอเท็มนั้น ๆ เอาไว้ได้ทั้งหมด

วิธีเริ่มต้นซื้อขาย NFT เพื่อสร้างรายได้

สำหรับการซื้อขาย NFT นั้นสามารถทำได้บน Marketplace ซึ่งจะเป็นการตกลงชำระราคาโดยแลกกับการโอน NFT แต่หากคุณเป็นศิลปินหรือผู้ผลิตผลงานก็จำเป็นต้องมีการสร้าง NFT ขึ้นมาก่อน โดยทั้งการสร้างและเริ่มต้นซื้อขาย NFT นั้นมีวิธีการดังนี้


 ●  การสร้าง NFT สำหรับศิลปินหรือผู้ผลิตผลงาน

ส่วนนี้ผู้สร้างผลงานจำเป็นต้องแปลงไฟล์ผลงานดิจิทัลให้กลายเป็น NFT โดยจะต้องเตรียมกระเป๋าเงินดิจิทัล, เหรียญ Ethereum สำหรับเป็นค่าแก๊ส, และบัญชีผู้ใช้ใน Marketplace และมีขั้นตอนดังต่อไปนี้


ขั้นตอนการสร้าง NFT สำหรับศิลปินหรือผู้ผลิตผลงาน


1. สร้างบัญชีผู้ใช้บน Marketplace ที่ต้องการเลือกใช้ กรณีนี้สมมติเป็นการใช้ opensea.io ที่เป็น Marketplace ที่ได้รับความนิยมและมีสภาพคล่องสูงในปัจจุบัน


2. สร้างบัญชีกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ Marketplace รองรับการใช้งาน เช่น Metamask และทำการเชื่อมต่อบัญชี Marketplace เข้ากับกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้เองที่จะเป็นที่พักเหรียญหลังจากที่ขายผลงานได้แล้ว และเป็นที่หักเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บน Marketplace


3. เตรียมเหรียญ Ethereum สำหรับเป็นค่าแก๊ส โดยทำการซื้อเหรียญบน Cryptocurrency Exchange เช่น Bitkub, Binance, Satang Pro ฯลฯ มาเก็บไว้ จากนั้นโอนเหรียญ Ethereum ที่เตรียมไว้เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล Metamask ที่เชื่อมต่อกับบัญชี Marketplace


4. อัปโหลดไฟล์งานให้เป็น NFT เตรียมไฟล์ผลงานที่เป็นไฟล์ดิจิทัลให้เรียบร้อย จากนั้นกลับไปที่บัญชีบน opensea.io ให้เลือกเมนู Create Your Collection ใน opensea.io เป็นการตั้งค่าและคำอธิบายสำหรับชุดผลงานที่จะลงขาย, เลือกต่อด้วย Add Your NFTs ซึ่งจะเป็นการอัปโหลดผลงานเพื่อสร้างเป็น NFT บนเครือข่าย ซึ่งในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ค่าแก๊สที่เป็น Ethereum ที่เราเตรียมไว้, สุดท้ายเลือก List Them for Sale เป็นการตั้งเงื่อนไขการวางขาย เช่น ตั้งราคาขายทันที การตั้งเงื่อนไขประมูล เงื่อนไขระยะเวลาการประมูล ฯลฯ ซึ่ง opensea.io จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม 2.5% ของราคาขายในกรณีที่ NFT ยืนยันการขายสำเร็จ


อย่างไรก็ดี ในการสร้าง NFT สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงและต้องคำนึงถึงไว้เสมอก็คือ ขั้นตอนนี้มีต้นทุนเป็นค่าแก๊ส ซึ่งต้นทุนตัวนี้จะไม่คงที่ขึ้นอยู่กับ capacity ของการประมวลผลบนเครือข่าย ซึ่งอาจมีราคาตั้งแต่ $20 กว่า ๆ ไปจนเกือบ ๆ $40 ได้ ดังนั้นก่อนที่จะลิสต์ผลงานขึ้นเป็น NFT เพื่อให้ประหยัดต้นทุนก็ควรตรวจสอบค่าแก๊สก่อนลงผลงานจะดีที่สุด


 ●  วิธีเริ่มต้นซื้อขาย NFT สำหรับนักลงทุน


วิธีเริ่มต้นซื้อขาย NFT สำหรับนักลงทุน


สำหรับการซื้อขาย NFT สิ่งที่นักลงทุนต้องมีก็คือเหรียญคริปโตสกุลที่กำหนด บัญชีซื้อขาย และปฏิบัติตามเงื่อนไขการซื้อขายที่ผู้ขายกำหนดไว้ นั่นคือ


1. สมัครบัญชีผู้ใช้บน Marketplace หากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้บน Marketplace ก็จำเป็นต้องสมัครสมาชิกก่อน และทำการเชื่อมต่อบัญชีเข้ากับกระเป๋าเงินดิจิทัลที่แพลตฟอร์มรองรับ แม้จะยังไม่จำเป็นต้องใส่เงินในกระเป๋าเงินทันที แต่ในกำหนดเวลาที่ต้องชำระค่าซื้อขายก็ควรมีเหรียญในกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ครบจำนวน


2. เลือก NFT ที่หมายตา สมมติบน opensea.io เราสามารถค้นได้จากผลงานที่เพิ่งสร้างใหม่ หรือเลือกจากชนิดของงานศิลปะ ซึ่งหากพบผลงานที่ขึ้นให้ “ซื้อตอนนี้” นั่นคือราคาสุดท้ายแล้วที่เราสามารถชำระเพื่อให้ได้ NFT นั้นมา แต่หากผลงานนั้นขึ้นว่า “การประมูล” คุณจำเป็นต้องเสนอราคา และคนที่เสนอราคาแพงที่สุดในช่วงสุดท้ายก่อนปิดประมูล คนนั้นก็จะได้งาน NFT นั้นไป


3. การชำระราคา สมมติคุณเลือกการ “ซื้อทันที” ก็จำเป็นต้องยืนยันการทำรายการสองชั้น และชำระเงินค่าซื้อขายด้วย Ethereum ทันที โปรดระลึกไว้ว่าในการซื้อขาย NFT นั้นผู้ซื้อจำเป็นต้องจ่ายค่าธุรกรรมเพิ่มต่างหากจากราคาค่าซื้อขาย ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 0.22 ETH 


4. ตรวจสอบการโอน NFT เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถเข้าไปเช็กการโอน NFT ได้ทั้งบนกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เชื่อมต่อไว้กับ opensea.io หรือ ในคอเลคชั่นของคุณบน opensea.io และเมื่อ NFT ถูกโอนมาแล้ว คุณก็สามารถนำมันไปวางแสดงไว้ หรือ นำไปตั้งราคาขายต่อก็สามารถทำได้ทั้งหมด

NFT กับลิขสิทธิ์

สำหรับลิขสิทธิ์ของ NFT ในประเทศไทยยังไม่ได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเนื่องจาก NFT ยังเป็นเรื่องใหม่มาก แต่สำหรับแนวปฏิบัติในปัจจุบันนั้นอ้างอิงกับกฎหมายลิขสิทธิ์เดิม นั่นคือตามพรบ.ลิขสิทธิ์มาตรา 8 กำหนดให้ “ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น” ดังนั้นลิขสิทธิ์ของ NFT จึงตกอยู่กับผู้สร้างนับตั้งแต่สร้างผลงานเสร็จเรียบร้อย แม้ว่าผลงานนั้นในภายหลังจะนำไปสร้างเป็น NFT ลิขสิทธิ์และสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานทางกายภาพที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นของผู้สร้างสรรค์อยู่ และผู้ซื้อ NFT จะได้สิทธิครอบครอง NFT ที่สามารถใช้แสดงบนออนไลน์ได้เท่านั้น


อย่างไรก็ดีข้อกำหนดนี้อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากบล็อกเชนที่สนับสนุน NFT มีฟีเจอร์ของสัญญาอัจฉริยะ ที่สามารถทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เป็นอย่างอื่นได้ เช่น การอนุญาตให้ผู้ถือ NFT นำไปใช้ในเชิงพานิชย์ นำไปดัดแปลง 


หรือในกรณีภาพวาดของ Banksy ศิลปินชื่อดัง เมื่อมีการสร้าง NFT ของภาพวาดขึ้นแล้ว ภาพต้นฉบับถูกนำมาเผาทำลาย ทำให้ลิขสิทธิ์บนภาพวาดจริงหมดไปเหลือเพียงไฟล์ดิจิทัลบน NFT เท่านั้น และภาพวาด NFT ตัวนั้นก็ถูกประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง $380,000 ดอลลาร์


ดังนั้นในเรื่องของลิขสิทธิ์บน NFT นั้นผู้ซื้อมักจะได้เพียงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของไฟล์ดิจิทัลบน NFT เท่านั้น แต่สิทธิ์อื่น ๆ ที่จะได้จำเป็นต้องตรวจสอบ “licensing agreement” หรือ “สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ” ของ NFT ให้ถี่ถ้วนก่อน ซึ่งข้อกำหนดตัวนี้อาจมีความแตกต่างได้ตามผลงานแต่ละชิ้นเพื่อให้สามารถใช้ NFT ได้ถูกต้องตามเงื่อนไขและสัญญาการใช้งาน

ความเสี่ยงของ NFT

จากที่กล่าวมาจะพบว่าการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนที่พ่วงมากับฟีเจอร์ของสัญญาอัจฉริยะเข้ามาใช้กับสินค้าหรือผลงานต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์และลดข้อจำกัดของสินค้าแต่ละอย่างลงไปอย่างมากมาย กระนั้น NFT ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากและข้อมูลย้อนหลังที่จะทำให้นักลงทุนตรวจสอบนั้นก็มีไม่มาก ดังนั้นเทคโนโลยีตัวนี้จึงมาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน โดยความเสี่ยงหลัก ๆ ที่นักลงทุนควรคำนึงถึง เช่น


 ●  ตลาด NFT มีการเก็งกำไรและมีความไม่แน่นอนสูง 

ตลาด NFT เป็นตลาดเก็งกำไร นักลงทุนพยายามหาซื้องานในราคาที่มีราคาถูกในสายตาของตนเอง และพยายามจะขายมันออกไปในราคาแพง ๆ ดังนั้นปัญหาอย่างหนึ่งก็คือมูลค่าพื้นฐานของ NFT นั้นคำนวณออกมาได้ยาก เนื่องจากมูลค่าของมันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนซื้อล้วน ๆ ทำให้การลงทุนแบบนี้อาจต้องใช้เวลาในระยะยาวสำหรับการเก็บรักษาเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาอีกว่าการลงทุนในรูปแบบ NFT นี้จะสามารถอยู่ไปได้ยาวนานพอหรือไม่ 


 ●  แม้ NFT จะดัดแปลง/ทำซ้ำไม่ได้ แต่ไฟล์ต้นฉบับนั้นทำได้ 

จริงอยู่ที่เมื่อไฟล์ดิจิทัลถูกแปลงเป็น NFT เรียบร้อยแล้ว เหรียญนั้นจะไม่สามารถถูกดัดแปลง แก้ไข ลบ หรือนำไปใช้งานผิดประเภทได้ ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้แบบสุด ๆ ว่างานชิ้นนั้นมีความเป็นออริจินัลสูง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไฟล์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นก่อนหน้านั้นจะเป็นงานต้นฉบับเช่นกัน เนื่องจากแม้จะมีการประมูลไปด้วยราคาแพงลิ่ว แต่ผลงานดิจิทัลบางตัว เช่น Weird Whale Image ที่ประมูลไปด้วยราคาสูงลิ่วถึง $160,000 ดอลลาร์ก็ถูกพบในภายหลังว่าภาพวาดนั้นอาจได้มาจากการลอกเลียนงานศิลปะอื่น ซึ่งเส้นแบ่งของการลอกเลียนและการได้รับแรงบันดาลใจก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ 


 ●  มันถูกขโมยได้ 

เช่นเดียวกับที่สกุลเงินดิจิทัลถูกขโมย NFT ก็สามารถถูกแฮ็กและขโมยได้ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับ NFT เช่น เทคโนโลยีความปลอดภัยที่ Marketplace เลือกใช้ หรือความปลอดภัยของกระเป๋าเงินดิจิทัล 


 ●  ภาษี 

เนื่องจากการซื้อขาย NFT ก็ยังนับเป็นการซื้อขายสินค้า ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ในอนาคต NFT จะถูกเก็บภาษีจากการซื้อขายได้ด้วย

NFT กับการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทย

กลต.ที่คาดกันว่าจะเป็นผู้เข้ามาดูแลและควบคุมการซื้อขายเหรียญดิจิทัล รวมถึง NFT ได้วางแนวทางไว้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2021 ที่ “ห้ามศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อ-ขาย “Utility Token พร้อมใช้” หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้” Meme Token, Fan Token, Non-Fungible Token : NFT, เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อ-ขายเอง ดังนั้นการซื้อขาย NFT บน “ศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล” จึงไม่สามารถทำได้ภายใต้การกำกับดูแลของกลต. หรือ คณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


อย่างไรก็ดี สำหรับงานศิลปะในรูป NFT ได้มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมออกมาในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวถึงคำอธิบายของกลต. ที่ให้ผู้บริการรายหนึ่งสามารถแสดงผลงานและเสนอบริการ Marketplace สำหรับงานศิลปะ NFT ได้ โดยกล่าวว่า NFT ที่มีลักษณะเป็น digital life ที่แสดงถึงชิ้นงานศิลปะในรูปหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดสิทธิของบุคคลในการลงทุนรูปแบบใด ๆ หรือต้องการนำไปใช้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริการอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะคล้ายหุ้น สินทรัพย์ทางการเงินเพื่อการลงทุน หรือสกุลเงิน ไม่เข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัลและไม่เข้าข่ายป็นสกุลเงินดิจิทัลตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ เป็นผลให้การให้บริการ NFT marketplace นั้นสามารถทำได้

อนาคตของ NFT

ถึงตรงนี้เราคงต้องบอกว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาด NFT มีการขยายตัวของกลุ่มผู้ใช้อย่างรวดเร็วทั้งจากกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าก็จะตามมาด้วยศักยภาพที่จะทำกำไรได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าตลาดนี้ยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก และหลายคนยังคงตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีตัวนี้จะยังดำรงอยู่ไปได้ต่อไปในอนาคตหรือไม่ 


ซึ่งไม่ว่าตลาดนี้จะยังเป็นที่นิยมหรือไม่ในอนาคต งานศิลปะและสินค้าที่อยู่บนเครือข่ายนี้ก็จะยังดำรงอยู่ต่อไปตราบใดที่ไม่มีการแทรกแซงระบบ เพราะเครือข่ายบล็อกเชนนั้นไม่อนุญาตให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบ ข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วได้ ดังนั้นแม้ว่างานศิลปะที่เป็นต้นฉบับ เช่น ภาพวาด งานศิลป์ ฯลฯ ตัวจริงจะเสื่อมสลายไปตามเวลา แต่ตัวงานที่เป็น NFT จะยังคงอยู่เหมือนเดิม และแน่นอนว่าอนาคตของตลาดการซื้อขาย NFT ก็ยังเป็นสิ่งที่เราต้องตามดูกันต่อไป

NFT น่าลงทุนหรือไม่

แน่นอนว่าในปัจจุบันการซื้อขาย NFT นั้นทำได้ง่ายมาก เพียงแค่คุณมีเหรียญคริปโตในกระเป๋าเงิน การเลือกซื้อและชำระราคาก็เป็นเรื่องง่าย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถทำกำไรจากการลงทุนนี้ได้ 


เพราะ NFT เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนสูง และเราไม่สามารถใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อมาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เพราะเทคโนโลยีตัวนี้ใหม่มาก การจะประเมินมูลค่าพื้นฐานของเหรียญก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากราคาของมันขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อขายของผู้ซื้อและผู้ขายล้วน ๆ แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ดังนั้นการลงทุนด้วยสัดส่วนของเงินทุนที่ไม่มากจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี และเข้าซื้อผลงานที่ดูมีคุณค่าในสายตาของคุณ 


อย่างไรก็ดี เพราะการซื้อขาย NFT นั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อผู้ขายล้วน ๆ ดังนั้นจึงมีโอกาสอยู่เหมือนกันที่คุณจะต้องขายมันออกไปด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมาจนเกิดเป็นผลขาดทุน แต่ NFT ก็ยังถือเป็นการกระจายพอร์ตการลงทุนสำหรับระยะยาวที่ดี

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลที่เรานำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อตอบคำถามที่ว่า NFT คืออะไร จะกลายมาเป็นกระแสร้อนแรงต่อจากบิทคอยน์หรือไม่  ซึ่งเพื่อน ๆ ก็คงได้เห็นแล้วว่าการมาถึงของ NFT นั้นไม่ได้มาแบบลอย ๆ แต่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาของแต่ละวงการได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีโอกาสสูงที่เทคโนโลยีตัวนี้จะถูกนำมาใช้ในวงกว้างมากขึ้นต่อไป

*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา


การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?
บทความที่เกี่ยวข้อง
placeholder
Ripple (XRP) น่าลงทุนหรือไม่ในกระแสการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล คราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินนี้กัน รวมถึงคำถามที่ว่า Ripple (XRP) น่าลงทุนไหม วิธีเทรด Ripple (XRP) และเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Bitcoin และ Ethereum แล้ว Ripple (XRP) ยังดูน่าสนใจอยู่หรือไม่ ตามไปดูกันได้เลย
ผู้เขียน  MitradeInsights
คราวนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินนี้กัน รวมถึงคำถามที่ว่า Ripple (XRP) น่าลงทุนไหม วิธีเทรด Ripple (XRP) และเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Bitcoin และ Ethereum แล้ว Ripple (XRP) ยังดูน่าสนใจอยู่หรือไม่ ตามไปดูกันได้เลย
placeholder
ราคา Ethereum วันนี้ การคาดการณ์ราคา Ethereum เทรดอย่างไร? Ethereum ที่ว่านี้จะกลายมาเป็นอนาคตในวงการการเงินและมีการซื้อขายกันอย่างคึกคักน่าเทรดได้อย่าง Bitcoin รึเปล่า แล้วจะมีวิธีเทรด Ethereum ได้อย่างไร บทความนี้เราจะพาเทรดเดอร์ไปสำรวจสินทรัพยที่เรียกว่า Ethereum กัน
ผู้เขียน  MitradeInsights
Ethereum ที่ว่านี้จะกลายมาเป็นอนาคตในวงการการเงินและมีการซื้อขายกันอย่างคึกคักน่าเทรดได้อย่าง Bitcoin รึเปล่า แล้วจะมีวิธีเทรด Ethereum ได้อย่างไร บทความนี้เราจะพาเทรดเดอร์ไปสำรวจสินทรัพยที่เรียกว่า Ethereum กัน
placeholder
Smart contract (สัญญาอัจฉริยะ) คืออะไร?Smart contract (สัญญาอัจฉริยะ) คือโปรแกรมที่สร้างไว้บน Blockchain, มันเป็น Code ที่ถูกเขียนเอาไว้ หรือ ‘สมการ’ และ Data หรือ ‘สถานะ’ ที่จะใส่เข้าไปในแต่ละช่องของ Blockchain
ผู้เขียน  ภัสนัย จิรฤกษ์มงคลInsights
Smart contract (สัญญาอัจฉริยะ) คือโปรแกรมที่สร้างไว้บน Blockchain, มันเป็น Code ที่ถูกเขียนเอาไว้ หรือ ‘สมการ’ และ Data หรือ ‘สถานะ’ ที่จะใส่เข้าไปในแต่ละช่องของ Blockchain
placeholder
BUSD คืออะไร? เหรียญ BUSD ปลอดภัยไหม?ซึ่งในบทความนี้เราจะมาสำรวจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับ BUSD เช่น BUSD คืออะไร ทำงานอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียยังไง ปลอดภัยไหม น่าลงทุนไหมเป็นต้น ตามมาดูกันเลย
ผู้เขียน  MitradeInsights
ซึ่งในบทความนี้เราจะมาสำรวจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับ BUSD เช่น BUSD คืออะไร ทำงานอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียยังไง ปลอดภัยไหม น่าลงทุนไหมเป็นต้น ตามมาดูกันเลย
placeholder
Airdrop คืออะไร เรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้ ก่อนลงทุนใน Cryptocurrencyในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า ล่า Airdrop จากกลุ่มนักลงทุนในวงการนี้เป็นอย่างมาก เนื้อหาบทความนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวความน่าสนใจ Airdrop คืออะไร วิธีการรับ Airdrop พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตามล่า Airdrop ตามมาดูกันเลย
ผู้เขียน  ชัญญาพัชร์ ประวาสุขInsights
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า ล่า Airdrop จากกลุ่มนักลงทุนในวงการนี้เป็นอย่างมาก เนื้อหาบทความนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวความน่าสนใจ Airdrop คืออะไร วิธีการรับ Airdrop พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตามล่า Airdrop ตามมาดูกันเลย
ราคาเสนอแบบเรียลไทม์